ข่าวเกี่ยวกับแอดมิชชั่น |
||
17 เวปประกาศแอดมิชชั่นสกอ.มั่นใจระบบไม่ล่มชัวร์ดร.สุเมธแย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยว่าสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) พร้อมประกาศผลการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษาหรือแอดมิชชั่นประจำปีการศึกษา 2552 โดยในปีนี้มีผู้สมัครแอดมิชชั่นจำนวนทั้งสิ้น119,377 คนโดยนักเรียนสามารถเข้าดูผลการคัดเลือกผ่านทางเว็บไซต์ของสกอ. www.cuas.or.th และพันธมิตรทั้ง17 แห่งดังนี้
ที่มา : คมชัดลึก
คณะวิทย์เล็งปรับแอดมิชชัน'53 แยกสอบ ฟิสิกส์-เคมี-ชีวะ แก้ได้เด็กอ่อนคณิต-วิทย์เข้าเรียนจากมติที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ยืนยันว่า การรับบุคคลเข้าศึกษาในระบบกลาง แอดมิชชัน ปี 2553 จะเป็นไปตามที่เคยประกาศไว้ คือ ใช้คะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร ม.ปลาย หรือ จีแพกซ์ (GPAX) ร้อยละ 20 คะแนนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต (O-NET) ร้อยละ 30 ที่เหลือเป็นคะแนนสอบวัดความถนัดทั่วไป หรือ แก็ต (General Aptitude Test : GAT) และคะแนนสอบวัดความถนัดทางวิชาชีพ หรือ แพท (Professional A Aptitude Test : PAT) พร้อมกันนี้ ทปอ.มีมติ เรื่องสัดส่วนการใช้คะแนน GAT-PAT ของแต่ละสาขาวิชายังสามารถปรับเปลี่ยนได้ โดยในปลายเดือน พ.คนี้ จะให้สภาคณบดีของแต่ละสาขาวิชา หาข้อสรุปว่า แต่ละสาขาจะปรับเปลี่ยนค่าน้ำหนักคะแนนของ GAT และ PAT เท่าใด แล้วเสนอมาที่คณะทำงานศึกษาแอดมิชชันฟอรัมปี 53 เพื่อนำเข้าหารือในการประชุม ทปอ.วิชาการ ระหว่างวันที่ 31 ก.ค.-1 ส.ค.นี้ รศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ที่ประชุมคณบดีคณะวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ทวท.) คงมีการทบทวนเรื่องสัดส่วนคะแนน PAT ใหม่อีกครั้ง ในวันที่ 25- 26 พ.ค.นี้ ซึ่ง 2 วันดังกล่าว ทวท.จะหารือถึงแนวทางในการแก้ปัญหาคุณภาพเด็กที่เข้ามาเรียนคณะวิทย์ ว่ามหาวิทยาลัยควรดำเนินการรูปแบบไหน เพื่อผลิตนักศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพ อันนำไปสู่การพัฒนาประเทศต่อไป และสัดส่วนคะแนน GAT/PATซึ่งคาดว่าคงไม่แตกต่างไปจากที่ประชุมหารือกัน เมื่อวันที่ 25 เม.ย.2552 ที่ผ่านมา โดย PAT 2 ด้านวิทยาศาสตร์ แบ่งออกเป็น PAT 2.1 ความถนัดทางเคมี PAT 2.2 ความถนัดทางชีววิทยา และ PAT 2.3 ความถนัดทางฟิสิกส์ และจะเสนอให้ปรับแก้องค์ประกอบและค่าน้ำหนักแอดมิชชัน สำหรับคณะวิทยาศาสตร์ โดย PAT 2.1-2.3 ให้มีค่าน้ำหนักอย่างละ 15% และ PAT 1 ความถนัดทางคณิตศาสตร์ 15% รวมเป็น 60% ส่วนที่เหลืออีก 40% ขอใช้คะแนน GAT 10% โอเน็ต 20% และจีแพ็ค 10% เพราะหากไม่จัดสัดส่วนให้ PAT 2 รวมกัน 60 % คงไม่สามารถคัดเด็กที่มีความรู้พื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ เข้าเรียนคณะวิทยาศาสตร์ได้ การคัดเลือกเด็กเข้าเรียนคณะวิทยาศาสตร์ หรือคณะที่ต้องนำวิทยาศาสตร์ไปใช้นั้น หากไม่ได้กำหนดสัดส่วนคะแนนวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน และเหมาะสมแล้ว คงไม่สามารถคัดเด็กที่มีคุณภาพเข้าเรียนวิทยาศาสตร์ เพราะต่อให้คณะวิทยาศาสตร์ไม่ใช่คณะยอดนิยม แต่หากดูคณะยอดนิยม เช่น วิศวกรรมศาสตร์ และคณะที่ต้องนำวิทยาศาสตร์ไปใช้แล้ว ผลการเรียน หรือคุณภาพของเด็กตอนนี้ต่ำลงกว่าเดิม ดังนั้น แม้การคัดเลือกเข้าเรียนด้วยระบบแอดมิชชันกลาง เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กเข้าเรียนคณะวิทย์คุณภาพต่ำ แต่หากมีการกำหนดสัดส่วนที่เหมาะสมเชื่อว่าเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สามารถคัดเด็กที่คุณภาพ และมีความรู้พื้นฐานตรงสาขาที่จะเรียนรศ.ดร.สุพจน์ กล่าว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวต่อว่า โดยส่วนตัวแล้ว อยากให้ใช้แอดมิชชันตรง หรือรับตรงมาใช้ในการคัดเลือกเด็กเข้าศึกษาต่ออุดมศึกษาเป็นหลัก เพราะแต่ละคณะ แต่ละสาขา แต่ละสถาบันมีความแตกต่างกัน อีกทั้งการผลิตบัณฑิตมีเป้าหมายต่างกันด้วย ดังนั้น การหาจุดยืนร่วมกันตรงความต้องการของทุกคณะอาจเป็นเรื่องยาก แต่หากใช้ข้อสอบกลางในการวัดความรู้ ความสามารถ คุณภาพของเด็กร่วมกัน ส่วนคณะไหน มหาวิทยาลัยใช้สัดส่วนเท่าใด ขึ้นอยู่กับแต่ละคณะ แต่ละมหาวิทยาลัยนั้นๆ น่าจะง่ายกว่า อย่างไรก็ตามเพื่อไม่ให้เด็กวิ่งสอบ ทางคณะวิทยาศาสตร์เห็นด้วย แต่ก็ควรสามารถคัดเด็กมีคุณภาพตรงสาขาวิชาที่เข้าเรียนด้วย
รศ.ดร.กอบชัย เดชหาญ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) กล่าวว่าในกลุ่มของคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จะประชุมกันภายในสัปดาห์นี้ เพื่อทบทวนเรื่องสัดส่วนคะแนน PAT1 ทางคณิตศาสตร์ และ PAT2 ทางด้านวิทยาศาสตร์ เพราะหากไม่มีการจัดสัดส่วนที่เหมาะสม เด็กที่สอบเข้ามาเรียนคณะวิศวะฯ โดยผ่านระบบแอดมิชชันกลาง คงมีความรู้พื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ไม่แน่นพอที่จะเรียนคณะวิศวะ เนื่องจากตอนนี้ต้องยอมรับว่าเด็กที่เข้ามาเรียนคณะวิศวะ มีความรู้พื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ ต่ำมาก ทำให้บางคนไม่สามารถเรียนต่อได้ เสียโอกาส และเสียเงินมากขึ้น ดังนั้น หาก ทปอ.ให้แต่ละที่ประชุมคณบดี เสนอสัดส่วนค่าน้ำหนักคะแนน GAT/ PATทางคณะวิศวะ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป แต่เบื้องต้น คงมีสัดส่วนที่เหมาะสม ไม่แตกต่างจากคณะวิทยาศาสตร์อย่างแน่นอน
ที่มา : ผู้จัดการ
รามยอดนิยมคนแห่เรียน ใช้หน่วยกิตเทียบโอนจบ ป.ตรีเร็วรศ.คิม ไชยแสนสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง (มร.) เปิดเผยว่า การศึกษาระบบ Pre-degree ของ มร.เป็นการให้โอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนที่กำลังศึกษาในชั้น ม.ปลาย หรือผู้ที่สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ได้เรียนในมหาวิทยาลัยล่วงหน้า เป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่การศึกษาระดับปริญญาตรีต่อไป โดยผู้เรียนสามารถนำหน่วยกิตที่สะสมไว้มาเทียบโอนเมื่อจบ ม.ปลาย และสมัครเป็นนักศึกษารามคำแหง ทำให้มีโอกาสเรียนจบปริญญาตรีเร็วขึ้นกว่าเกณฑ์ปกติ จึงทำให้มีโอกาสที่ดีในชีวิตที่เรียนจบและมีงานทำก่อน อีกทั้งยังสามารถศึกษาต่อในระดับปริญญาโทได้เร็วกว่าผู้อื่นด้วย มีตัวอย่างของนักเรียน Pre-degree หลายรายที่สามารถสะสมหน่วยกิตได้เป็นจำนวนมากเมื่อจบ ม.ปลาย และมาสมัครเป็นนักศึกษาก็เรียนอีกเพียง 1 ภาคการศึกษา หรืออีก 1-2 ปีเท่านั้นก็สำเร็จปริญญาตรีในขณะที่มีอายุเพียง 18-19 ปี และเป็นการจบอย่างมีคุณภาพด้วย เพราะบางรายก็เรียนต่อเนติฯ และสอบเนติฯ ได้ขณะที่มีอายุ 19-20 ปีเท่านั้น ขณะที่บางรายก็สอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อปริญญาโททั้งสถาบันการศึกษาภายในประเทศและต่างประเทศ อธิการบดี มร. กล่าวเสริมว่า จากความสำเร็จของการเรียนแบบ Pre-degree ที่มีตัวอย่างให้เห็นเด่นชัด ทำให้ความนิยมของเยาวชนที่สมัครเรียน Pre-degree มีแนวโน้มมากขึ้นทุกปี จากจุดเริ่มต้นเมื่อปี 2537 มีผู้สมัครเรียน Pre-degree เพียง 349 คน ถึงปี 2550 มีจำนวนเพิ่มถึง 10,843 คน และปีล่าสุดที่ผ่านมา (2551) มีผู้เรียน Pre-degree สูงถึง 11,094 คน และเชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากนักเรียนชั้น ม.ปลายสมัครเรียน Pre-degree เพิ่มขึ้นทุกปี ดังนั้น จึงขอเชิญชวนผู้สนใจสมัครเรียน Pre-degree ซึ่งเปิดรับสมัครทั้งในส่วนกลาง (มร.หัวหมาก) และสาขาวิทยบริการส่วนภูมิภาค 21 จังหวัดทั่วประเทศ โดยในภาค 1 ปีการศึกษา 2552 นี้จะเปิดรับผู้สนใจเรียน Pre-degree พร้อมกับการรับสมัครนักศึกษาใหม่ ระหว่างวันที่ 6-17 พ.ค.52 รศ.คิม กล่าวอีกว่า มร.จะเปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่ระดับปริญญาตรีในภาค 1 ปีการศึกษา 2552 ระหว่างวันที่ 6-17 พ.ค.52 ซึ่งจะเปิดรับสมัครทั้งที่ส่วนกลาง (หัวหมาก) และที่สาขาวิทยบริการส่วนภูมิภาค 21 จังหวัดทั่วประเทศนั้น การรับสมัครที่ มร.หัวหมากในปีนี้จะใช้ระบบ Super Service ให้การดำเนินการในทุกๆ ขั้นตอนของการสมัครสะดวก รวดเร็ว สร้างความประทับใจและความพึงพอใจสูงสุดแก่ผู้มาสมัคร โดยทุกขั้นตอนจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในอาคารหอประชุมพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ในลักษณะของ One Stop Service ที่นำมาใช้ตั้งแต่การรับสมัครในปีที่ผ่านมา อธิการบดี มร. ยังกล่าวต่อว่า การรับสมัครในปีนี้มหาวิทยาลัยยังคงค่าหน่วยกิตในอัตราเดิมคือ หน่วยกิตละ 25 บาท เพราะเข้าใจถึงความเดือดร้อนของผู้ปกครองที่ต่างได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ และจะได้มีส่วนร่วมในการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง ซึ่งการเรียนที่รามคำแหงจนจบปริญญาตรีหลักสูตร 4 ปี เสียค่าหน่วยกิตเพียง 8,960 บาท นอกจากนี้ยังมีทุนการศึกษาสนับสนุนนักศึกษาหลายประเภท ทั้งกองทุนกู้ยืม กยศ. ทุนเรียนดี 5G และทุนสนับสนุนจากมูลนิธิและองค์กรการกุศลที่มีผู้บริจาคให้เป็นจำนวนเพียงพอต่อการสนับสนุนนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ แม้จะจัดการศึกษาโดยเก็บค่าหน่วยกิตในราคาถูก แต่ก็สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพ เพราะรามคำแหงเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ มีอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ มีสื่อการสอนที่ทันสมัย มีการสร้างเสริมประสบการณ์ทางด้านวิชาชีพแก่นักศึกษา ทำให้นักศึกษามีความรู้ ความสามารถ และสำเร็จเป็นบัณฑิตที่มีความรู้คู่คุณธรรม ซึ่ง 37 ปีที่ผ่านมา บัณฑิตรามคำแหงได้รับความยอมรับและประสบความสำเร็จมีความก้าวหน้าในวิชาชีพอย่างดียิ่ง อธิการบดี มร. ยังให้ความมั่นใจกับผู้ปกครองว่า มหาวิทยาลัยจะดูแลลูกศิษย์ให้เหมือนลูกหลานของตนเอง โดยได้มอบนโยบายให้คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ เอาใจใส่และดูแลนักศึกษาอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เรียนอย่างมีความสุข มีความอบอุ่น และผู้ปกครองจะวางใจได้ว่าลูกหลานของท่านจะเรียนจบเป็นบัณฑิตจากรามคำแหงอย่างมีความรู้คู่คุณธรรม ที่มา : บ้านเมือง
|